เอกสารเชิงหลักการเกี่ยวกับสถาบันวิจัยฯ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

"สถาบันวิจัยออทิซึ่มมหาวิทยาลัยขอนแก่น" ("Autism Research Institute of Khon Kaen University")

เอกสารเชิงหลักการ (Concept Paper)

ข้อเสนอโครงการจัดตั้ง "สถาบันวิจัยออทิซึ่มมหาวิทยาลัยขอนแก่น" ("Autism Research Institute of Khon Kaen University")

เอกสารเชิงหลักการ (Concept Paper)

1.    ชื่อข้อเสนอโครงการ     

        โครงการจัดตั้ง     "สถาบันวิจัยออทิซึ่มมหาวิทยาลัยขอนแก่น"

                                                "Autism Research Institute of Khon Kaen University"

หน่วยงาน

ชื่อโครงการ/กิจกรรม

งบประมาณ (ล้านบาท)

หน่วยงานหลัก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยออทิสติกมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการเตรียมการจัดตั้งสถาบันวิจัยออทิซึ่มมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งประกอบด้วย 3 ศูนย์วิจัยดังนี้

1.  ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์การบำบัดเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

2.   ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการศึกษาเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

3.   ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านสวัสดิการสังคมเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

50

หน่วยงานสนับสนุน

คณะแพทยศาสตร์และคณะวิชาในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยขอนแก่น

*ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์การบำบัดเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

[มี @คลินิกพิเศษออทิสติกฯ สาธิต ในโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์เป็นภาคสนาม
โดยให้มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์การบำบัดเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม
ดังนี้

๑.ในส่วนที่เกี่ยวกับยา-สารเคมี-หัตถการทางการแพทย์ ๑.๑ ต้องการให้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารขนาดของยาที่ใช้กับบุคคลออทิสติก และผลของยาที่มีต่อพฤติกรรมทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ ๑.๒ ต้องการให้มีการคิดนวัตกรรมหัตการทางการแพทย์ที่จะใช้กับบุคคลออทิสติก เช่น การทำฟัน การเจาะเลือด ฯลฯ ๑.๓ ต้องการให้มีการคิดนวัตกรรมกระบวนการบริการคนไข้นอกและคนไข้ในที่สอดคล้องกับธรรมชาติของบุคคลออทิสติก

๒.ในส่วนที่เกี่ยวกับการบำบัดที่กระทำโดยนักบบำบัดและบุคลากรด้านการแพทย์การบำบัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่แพทย์ 
๒.๑ ต้องการนวัตกรรมกระบวนการพัฒนาประสาทการรับรู้ระบบต่างๆ ในบริบทของคลินิก ๒.๒ ต้องการนวัตกรรมกระบวนการพัฒนาประสาทการรับรู้ระบบต่างๆ ในบริบทของศูนย์อนุบาลเด็กเล็กในชุมชน ๒.๓ ต้องการนวัตกรรมกระบวนการพัฒนาประสาทการรับรู้ระบบต่างๆ ในบริบทของห้องเรียน ๒ รูปแบบ;ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกและห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษในโรงเรียนทั่วไปในชุมชน ๒.๔ ต้องการนวัตกรรมกระบวนการพัฒนาประสาทการรับรู้ระบบต่างๆ ในบริบทของบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชน ฯลฯ]

 

3

หน่วยงานสนับสนุน

คณะศึกษาศาสตร์และคณะวิชาในกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

*ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการศึกษาเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม 

[๑.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษา (หรือการศึกษาระดับก่อนการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา) โดยเฉพาะหน้าเร่งด่วนต้องการให้วิจัยและพัฒนาเชิงระบบเรื่องห้องเรียน ๒ รูปแบบ;ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกและห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษในโรงเรียนทั่วไปในชุมชนใกล้บ้าน ฝ่ายนี้มีโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เป็นภาคสนาม

๒.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกระดับการอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ โดยเฉพาะหน้าต้องการให้วิจัยเชิงกระบวนการในการจัดทำและบริหารหลักสูตรการฝึกอาชีพในบริบทของการอาชีวบำบัด สำหรับออทิสติกศักยภาพต่ำในวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่วัยทำงาน

๓.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกระดับการอุดมศึกษา โดยเฉพาะหน้าต้องการให้วิจัยเชิงกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือบุคคลออทิสติกศักยภาพสูงในวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่สามารถเข้าเรียนหลักสูตรระดับอุดมศึกษาร่วมกับนักศึกษาที่เป็นบุคคลปกติได้ แต่ยังคงมีปัญหาทางด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและความไม่เข้าในบริบทต่างๆ ทางสังคม
]

 

2

หน่วยงานสนับสนุน

คณะวิชาในกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

*ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านสวัสดิการสังคมเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

[ มี "บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนเมืองมหาวิทยาลัยขอนแก่น" (บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกสาธิต) เป็นภาคสนาม โดยให้มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้  และนวัตกรรมทางด้านสวัสดิการสังคมเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม ที่สนองตอบต่อความต้องการจำเป้นพิเศษของบุคคลออทิสติกตลอดการใช้ชีวิตประจำวัน ๒๔ ชม. ๓๖๕ วัน]

35

2. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งสถาบันวิจัยออทิสติก

                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ซึ่งมาตรา 80 ระบุว่ารัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน และต้องสงเคราะห์ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพที่ดีและพึ่งตนเองได้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กล่าวถึงสิทธิการศึกษาของคนพิการ ในมาตรา 10 ว่า บุคคลพิการมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐต้องจัดให้ตั้งแต่แรกเกิด หรือแรกพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และรัฐต้องจัดการศึกษาให้บุคคลที่มีความสามารถพิเศษด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น

                การยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติก โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งของประชากรกลุ่มนี้นั้น จะต้องใช้งบประมาณ อัตรากำลังบุคคลากร  การเสียสละ และ การแบ่งปันจากรัฐและสังคม อย่างมหาศาล ซึ่งการเคลื่อนไหว เพื่อให้ประชากรออทิสติกในระดับรากหญ้า ทุกระดับความหนักเบาของกลุ่มอาการได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง ในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทางเครือข่ายผู้ปกครองฯ ต้องผจญ กระทั่งประทะประดาบทางความคิดกับ "คำถาม" เรื่องคุ้มค่าไม่คุ้มค่า/ทางเศรษฐกิจ/อยู่ตลอดเวลา

                เมื่อวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2548 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะ ก็ได้เลือกมาระดมสมองทางด้านการศึกษา ที่จังหวัดขอนแก่น และได้กล่าวไว้ว่า "..อยากฟังความคิดเห็นที่เป็นอิสระอย่างเต็มที่ และรัฐบาลจะได้ใช้ผลจากการประชุมปฏิบัติการในวันนี้ เพื่อกำหนดทิศทางในการจัดการศึกษาของชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.."  อีกทั้งยังกล่าวโดยสรุปได้ว่า การลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าต้องคิดเรื่องคุ้มไม่คุ้ม ก็ไม่ต้องได้ลงทุนไม่ต้องได้พัฒนาอะไรกันเสียที หมายความว่า เท่าไรก็ต้องลงทุน โดยต้องให้ทุกคนได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง และต้องเป็นการศึกษาที่ส่งเสริม "การเรียนรู้ตลอดชีวิต"  นอกจากนี้ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ต่อ รัฐสภา รัฐบาลได้เสนอนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของ "ออทิสติก" ไว้ในส่วนของ นโยบายพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ อีกด้วย แม้จะยังดูไม่ตรงกับ ความต้องการจำเป็น (special needs) ทั้งหมดเท่าใดนัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่คำว่า ออทิสติก ถูกระบุอยู่ในนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาอย่างเป็นทางการ

                จากการวิเคราะห์และจัดทำ แผนที่ถนนชีวิต (Road map) ของประชากรออทิสติก สำหรับการยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนออทิสติก เพื่อหาคำตอบว่า ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิตนั้น คนออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออะไรและอย่างไรบ้าง?  สรุปได้ว่าในช่วงแรกเกิดหรือแรกพบ ช่วงเข้ารับการศึกษา ช่วงการทำงาน และช่วงปลายของชีวิต บุคคลออทิสติกมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านสาธารณสุขเพื่อการวินิจฉัยและการบำบัด การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพความพร้อมของแต่ละคน การฝึกวิชาชีพเพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตในสังคม และการดูแลในลักษณะสวัสดิการสังคมในช่วงบั้นปลายของชีวิต ดังแสดงในภาพที่ 1 ซึ่งการดูแลให้การสงเคราะห์และพัฒนาศักยภาพของบุคคลกลุ่มนี้ยังขาดองค์ความรู้ที่เป็นบริบทของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมในระดับท้องถิ่น ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา และการบริการสังคม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้นั้นไปสู่หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การดูแลให้การสงเคราะห์และพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกอย่างเหมาะสมกับสังคมไทยต่อไป

ภาพที่ 1 "แผนที่ถนนชีวิตของประชากรออทิสติก"

                จากภาพที่ 1 จะเห็นว่า  การดูแลบุคคลออทิสติกจะเริ่มจากชุมชนระดับรากหญ้า เมื่อ แรกพบ  (๐-๓ ปีครึ่ง หรือ แรกเกิดจนถึงอายุประมาณสามปีครึ่ง) จะต้องมี หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ของ โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน เป็น กลไกรูปธรรม ในการให้ บริการด้านสาธารณสุข ที่จะต้องจัดให้ ทารกแรกเกิด ทุกคนได้รับ การคัดกรอง ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมี พัฒนาการบกพร่อง แบบ กลุ่มอาการออทิซึ่ม หรือไม่? หากมี มารดาบิดาและหรือผู้ปกครอง จะต้องได้รับคำแนะนำ เกี่ยวกับการดูแลฟื้นฟูเบื้องต้น เช่น การทำกายภาพบำบัด หรือ ทำกิจกรรมบำบัด เพื่อกระตุ้นฟื้นฟูระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ ฯลฯ จนอายุหนึ่งปีขึ้นไปแต่ไม่เกินสามปี ก็จะต้องได้รับ การวินิจฉัย  ว่าจะเข้าอยู่ในกลุ่ม ของ ออทิสติก หรือ  ออทิสติกเสปคตรัม/PDDs หรือไม่? ซึ่งหากอยู่ก็จะต้องได้รับ "การช่วยเหลือเริ่มแรก" อย่างเป็นระบบแบบที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Early Intervention (  E.I. ) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง ช่วงนี้จะเป็นช่วงของการบำบัดรักษาทางการแพทย์เป็นหลักเกือบจะล้วนๆ  และ ออทิสติก จะอยู่กับ ครอบครัว ศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กในชุมชน โดย มี หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ใน โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ให้บริการด้านการบำบัดรักษา ตลอดจนให้ คำแนะนำ และเป็น ที่ปรึกษาทางด้านสาธารณสุข

                เมื่อถึงวัยที่จะต้อง เข้ารับการศึกษา ( สามปีครึ่งขึ้นไปจนถึงวัยทำงาน) ออทิสติก ก็จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้ง การศึกษาในระบบ และ การศึกษานอกระบบ ได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ ด้วย กระบวนการจัดการศึกษาพิเศษ ซึ่งสำหรับ ออทิสติก จะต้องเป็น การบูรณาการการบำบัดและการเรียนรู้ เข้าด้วยกันเท่านั้น โดยใน ระดับอายุช่วงชั้นอนุบาลหรือก่อนปฐมวัย ไปจนถึงระดับอายุช่วงชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.๑-ม.๖) จะต้องมี ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก และ ห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษ เป็น กลไกรูปธรรม ใน การจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับ ออทิสติก ในระบบโรงเรียนทั่วไปในชุมชนใกล้บ้าน และมี บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน  เป็น กลไกรูปธรรม ใน การจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับ ออทิสติก นอกระบบโรงเรียน โดย ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก จะเป็นกระบวนการจัดการศึกษาพิเศษในโรงเรียนทั่วไป สำหรับออทิสติกทุกระดับความหนักเบาของกลุ่มอาการ ที่จะต้องมี การบูรณาการการบำบัดและการเรียนรู้  เข้าด้วยกันดังกล่าว ด้วยกระบวนการของการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP/ Individual Education Plan) และ แผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP/ Individual Implementation Plan) ให้ได้ออกมาเป็น หลักสูตรคู่ขนานเฉพาะบุคคลออทิสติก และ ตำรา/หนังสือเรียนเฉพาะบุคคล (๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้กับหนึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน) ประกอบ หลักสูตรฯ โดยมีการบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวอย่างเข้มข้น คู่ขนานและร่วมกันไปกับนักเรียนปกติในระดับอายุช่วงชั้นเดียวกัน ด้วย ระบบเชื่อมต่อ ส่งต่อ และ ถ่ายโอน ระหว่าง ห้องเรียนคู่ขนานฯ กับ ห้องเรียนปกติ ที่เป็น กลุ่มเพื่อนในระดับอายุช่วงชั้นเดียวกัน โดยมีอัตราส่วนครูผู้สอนต่อนักเรียนออทิสติกต่ำสุด เช่น หนึ่งต่อหนึ่ง หนึ่งต่อสอง สองต่อสาม หรือไม่เกินสามต่อห้า ที่จะต้องถือเอา การสอนตัวต่อตัว การสอนเชิงพฤติกรรม การสอนอย่างเข้มข้น และการสอนภาษานามธรรม เป็นรูปแบบและหลักการสอนพื้นฐาน รวมทั้งการจัดการทุกด้านทุกอย่างมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างละเอียดเป็นระบบ และอื่นๆ ส่วน ห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษ จะเป็นกระบวนการจัดการศึกษาพิเศษในโรงเรียนทั่วไป สำหรับออทิสติกที่ได้รับการพัฒนา จนสามารถถ่ายโอนออกจากห้องเรียนคู่ขนานมาใช้ ระบบจัดการทางการศึกษา   แบบนักเรียนปกติอย่างเป็นถาวร หรือ เป็นออทิสติกศักยภาพสูงที่เรียนรวมกับนักเรียนปกติในห้องเรียนปกติได้แล้ว แต่ยังต้องมีการสอนซ่อมสอนเสริมในบางทักษะ โดยเฉพาะทักษะทางการพูดการสนทนาและการใช้ภาษา และทักษะทางวิชาการบางรายวิชาที่ตามไม่ทันเพื่อน สำหรับ บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน นอกจากจะเป็นที่พักพิงของออทิสติกแล้ว ก็ยังเป็นศูนย์การเรียนนอกระบบ ศูนย์การฝึกอาชีพ และศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรออทิสติกในชุมชนอีกด้วย

                เมื่อพ้นระดับอายุช่วงชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ป.๑-ม.๖) ออทิสติก ก็จะลื่นไหลเข้าสู่ การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ได้เช่นเดียวกับประชากรปกติในระดับอายุเดียวกัน แต่ด้วย กระบวนการจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับ ออทิสติก ที่ การบูรณาการการบำบัดและการเรียนรู้ เข้าด้วยกันอีกเช่นเดียวกันกับที่จัดการกันในระดับอายุช่วงชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในเนื้อหาและในบริบทแตกต่างออกไป คือ ที่สูงขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง

                จากนั้น ก็เช่นเดียวกับประชากรปกติ ออทิสติก ก็จะต้องเข้าสู่ช่วงของ การทำงาน ที่จะต้องเรียกร้อง การมีงานทำ และจะต้องมีการดูแลจัดระบบช่วยเหลือ ออทิสติก ในเรื่องของ การฝึกอาชีพ การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการจ้างงาน และอื่นๆ  ต่อจากนี้แล้ว ออทิสติก ก็จะต้องเข้าสู่ ช่วงปลายชีวิต ที่จะต้องมี สถานที่พักพิง/บ้านพักออทิสติกชราในชุมชน โดยได้รับ เบี้ยยังชีพ หรือ สวัสดิการทางสังคมอื่นใดอันจำเป็น จาก "รัฐ/สังคม" โดยตลอดทุกช่วงของชีวิต จะมี หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ของ โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน คอยให้บริการ การบำบัดช่วยเหลือทางการแพทย์ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง ช่วงปลายชีวิต ตามความเหมาะสม ตามระดับอายุ และตามระดับความหนักเบาของกลุ่มอาการ

                อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันและคาดว่าต่อไปอีกสักสองทศวรรษข้างหน้า องค์ความรู้ทุกด้านที่จะนำมาใช้ในการจัดการกับประชากรออทิสติก จะยังคงอยู่ในสภาพที่กระจัดกระจายซึ่งไม่สามารถจะส่งต่อให้กับบุคลากรที่ทำงานกับออทิสติกนำมาใช้ได้อย่างเป็นระบบ หลายองค์ความรู้ยังไม่มีการฟันธงชี้ขาดว่าเหมาะหรือไม่ที่จะนำมาใช้ จึงขึ้นอยู่ความสามารถในการใช้ดุลยพินิจของบุคลากรแต่ละคนของแต่ละหน่วยงานในแต่ละสังกัด ที่จะลองถูกลองผิดส่งเดชกันไปตามยถากรรม โดย ไม่มี มาตรฐาน และ คุณภาพต้นแบบ ใดๆให้อ้างอิง

                ดังนั้นจึงต้องมีการจัดตั้ง สถาบันวิจัยออทิซึ่ม ขึ้นมา ค้นคว้า/วิจัย/เผยแพร่ข้อมูล ที่เป็น มาตรฐาน และเป็น คุณภาพต้นแบบ ในทุกๆ ด้าน ที่สามารถใช้เป็นแกนอ้างอิงได้ ให้กับองค์กร/หน่วยงานต่างๆ ซึ่งก็ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับ การบำบัดช่วยเหลือ ให้กับ  หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวทางด้านการแพทย์การบำบัด ในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน องค์ความรู้เกี่ยวกับ การบูรณาการการบำบัดและการเรียนรู้ ให้กับ ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก และ ห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษ รวมทั้ง บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน และสถานศึกษาทุกระดับรวมทั้งศูนย์การเรียนต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้กับ ออทิสติก ทั้งในและนอกระบบ องค์ความรู้เกี่ยวกับ การแก้ไขข้อบกพร่อง/ข้อจำกัดในการทำงาน ฯลฯ ให้กับ บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพของออทิสติกในชุมชนไปด้วย และ รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ ว่าจ้างบุคคลออทิสติกเข้าทำงาน และในท้ายที่สุดก็คือ องค์ความรู้ใน การดูแลบุคคลออทิสติก ใน วัยชรา หรือ ช่วงปลายชีวิต ให้กับ สถานที่พักพิง ตลอดจนบุคคลหรือองค์หน่วยงานใดๆ ที่อภิบาลดูแลประชากรออทิสติกในวัยชรา

3. ความพร้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดตั้งสถาบันวิจัยออทิซึ่ม

          จากแผนที่ถนนชีวิตของประชากรออทิสติก ซึ่งสรุปได้ว่าต้องมีสถาบันวิจัยออทิสติกที่ประกอบด้วยศูนย์วิจัยหลัก 3 ศูนย์คือ
                   1.
ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์การบำบัดเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม
                   2.
ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการศึกษาเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม
                   3.
ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านสวัสดิการสังคมเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์การบำบัดเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม  นั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือว่ามีความพร้อมสูงมาก เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ได้ขออนุมัติเปิดหลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทางด้าน Cognitive Neuropsychology และสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นอนุมัติหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการวิจัยและการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุขสำหรับการคัดกรอง การบำบัด และให้บริการแก่บุคคลออทิสติก

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดคณะศึกษาศาสตร์อยู่แล้ว ที่จะทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาแล้วเป็นเวลา ๑๐ ปี  ซึ่งสามารถขยายขอบเขตภารกิจในการวิจัยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติก

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบุคลากรที่มีผลงานการวิจัยในระดับชุมชน มีการจัดการศึกษาที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน การบริการทางสังคม บุคลากรที่สังกัดคณะวิชาในกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความพร้อมสูงที่จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยบ้านพิทักษ์ออทิสติก

โดยสรุปมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร และองค์ความรู้พื้นฐานที่จะจัดตั้งสถาบันวิจัยออทิสติก เพื่อการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนี้สำหรับการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

4. วัตถุประสงค์รวม

                4.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย การบำบัด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยออทิสติก และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับ Cognitive Neuropsychology เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลบุคคลออทิสติกในภาคตะวันออเฉียงเหนือ
                4.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้า วิจัย
  พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก หลักสูตรการวัดและประเมินผล รวมทั้งนวัตกรรมด้านการสอน ด้านการบำบัด โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย และส่งเสริมสนับสนุนความรู้ความสามารถของผู้เรียนอย่างเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ให้สามารถเรียนรวมกับเด็กปกติได้ รวมทั้งมีพื้นฐานในด้านระเบียบวินัย ความรับผิดชอบในตนเอง และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างอิสระ
                4.3 เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยรูปแบบการบริหารจัดการบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพของออทิสติกในชุมชน หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ ว่าจ้างบุคคลออทิสติกเข้าทำงาน และ การพัฒนาองค์ความรู้ใน การดูแลบุคคลออทิสติก ใน วัยชรา หรือ ช่วงปลายชีวิต ให้กับ สถานที่พักพิง ตลอดจนบุคคลหรือองค์หน่วยงานใดๆ ที่อภิบาลดูแลประชากรออทิสติกในวัยชรา

5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับโดยรวม

          5.1 บุคคลออทิสติกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิต ทั้งด้านการบริการทางการแพทย์ การบริการด้านการศึกษาและการบริการด้านสังคม
          5.2
เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และบุคลากรทางด้านการบริการทางการแพทย์ การบริการด้านการศึกษาและการบริการด้านสังคม สำหรับบุคคลออทิสติกของประเทศไทยและภูมิภาค

6. ระยะเวลาดำเนินงาน

                ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

               ระยะที่ 1 ระยะเวลา 2 ปี เป็นการเตรียมการพัฒนาบุคลากร อาคารสถานที่และครุภัณฑ์สำหรับการจัดตั้งสถาบันวิจัยออทิสติกมหาวิทยาลัยขอนแก่น
                ระยะที่ 2 ระยะเวลา 2 ปี เป็นช่วงของการเริ่มดำเนินงานตามภารกิจของศูนย์วิจัยในสังกัดสถาบันวิจัยออทิสติก

                ระยะที่ 3 ระยะเวลาตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป สถาบันวิจัยออทิสติกดำเนินงานตามภารกิจของสถาบันได้อย่างสมบูรณ์

7. งบประมาณรวมตลอดระยะเวลาดำเนินการ (ปี 2557-2562)  เป็นเงิน 90 ล้านบาท

8. ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกในระดับอุดมศึกษา ตามร่างแผนการพัฒนาการศึกษาบุคคลออทิสติกในระดับอุดมศึกษา

                สถาบันวิจัยออทิสติกมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ และการดำเนินงานที่สนองต่อยุทธศาสตร์ข้อ 2 และข้อ 3 ตามร่างแผนการพัฒนาการศึกษาบุคคลออทิสติกในระดับอุดมศึกษา
                ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการจัดการและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ดังนี้
                ข้อ 2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา พัฒนาระบบบริการสนับสนุนสำหรับบุคคลออทิสติก
(ASS)
                ข้อ 2.2 ผลิตและพัฒนาบุคลากรในการส่งเสริมศักยภาพบุคคลออทิสติก
                ข้อ 2.3 พัฒนาแนวทางการสร้างหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับบุคคลออทิสติก
                ข้อ 2.4 ส่งเสริมสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการดำเนินการจัดการอุดมศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติก
                ข้อ 2.5 ส่งเสริม สนับสนุนและจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนา
                ยุทธศาสตร์ข้อ 3 การส่งเสริมการมีงานทำของบุคคลออทิสติกที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา

9. การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในระดับชุมชน

                9.1 บุคคลออทิสติกได้รับการคัดกรอง การวินิจฉัย การบำบัดรักษา การศึกษา การฝึกอาชีพ การพัฒนาทักษะทางสังคม และสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ
               
9.2  บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรทางการพัฒนาสังคม มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการให้บริการทางการแพทย์ การศึกษาและสวัสดิการทางสังคมกับบุคคลออทิสติกและครอบครัวเพื่อการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ
               
9.3 สถาบันการศึกษามีหลักสูตรที่เหมาะสมและได้มาตรฐานในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรทางการพัฒนาสังคมให้สามารถให้บริการและพัฒนาบุคคลออทิสติกให้พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

10. รายละเอียดศูนย์วิจัยภายใต้สถาบันวิจัยออทิสติกมหาวิทยาลัยขอนแก่น

10.1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์การบำบัดเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

หลักการและเหตุผล

Autism จัดเป็นความผิดปกติของระบบประสาทด้านพัฒนาการที่พบมากที่สุดโรคหนึ่ง   autism เป็นความผิดปกติในสมองที่ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าใจคำพูด ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น การพัฒนาทางภาษาและสติปัญญามักไม่สมบูรณ์  มักมีปัญหาด้านสังคม  มีรายงานจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าอัตราความชุกของโรคเพิ่มจาก 2-5 คน / 10000 คน เป็น 1-1.3 คน / 1000 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ( Bryson and Smith, 1998; Fombonne, 1999 )  ดังนั้นจะเห็นว่าAutism จัดเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งที่ทวีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ในประเทศไทยเองพบว่าจำนวนผู้ป่วยออทิสติคเพิ่มขึ้นอย่างมาก   จากการคำนวณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลผู้ที่เป็น autistic ในอเมริกาจะพบว่าจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านดอลลาห์สหรัฐต่อคน  ในประเทศไทยยังไม่พบรายงานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว  แต่เมื่อคำนึงถึงจำนวนกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว จะเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ที่เป็นออทิสติกเพิ่มขึ้นอย่างมาก   Autism ไม่เพียงแต่จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้นยังพบว่ามีผลกระทบถึงด้านสังคมอีกด้วย  เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องจะทำให้กลายเป็นปัญญาอ่อน ไม่สามารถดูแลตัวเองได้และต้องพึ่งพาผู้อื่นไปตลอดชีวิต  ทั้งที่หากเราแก้ไขอย่างถูกวิธีตั้งแต่แรกจะลดปัญหาต่างๆไปได้อย่างมาก

          การแก้ไขความบกพร่องตั้งแต่เริ่มแรกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก    แต่อุปสรรคในการดำเนินงานที่พบก็คือ กลไกการเกิด autism ยังไม่ทราบแน่ชัด   อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับยีน  กรรมพันธุ์ และความผิดปกติของสารสื่อประสาท ตลอดจนอนุมูลอิสระ    ปัจจัยนี้มีผลกระทบทำให้ผลการรักษายังไม่ดีนักเนื่องจากไม่ทราบเป้าหมายที่แน่นอนที่จะต้องแก้ไข   นอกจากอุปสรรคที่กล่าวข้างต้น ปัญหาอีกด้านที่พบก็คือเรามักไม่มีดัชนีต่างๆทางชีววิทยาที่จะช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยดีขึ้นหลังจากการที่ได้รับการรักษารูปแบบต่างๆ หรือมีประสิทธิภาพการเรียนรู้  สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ขึ้นได้จริงๆ  นอกจากการดูจากผลการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม    เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ autistic มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น  จึงควรมีหน่วยที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับกลไกการเกิด autism    ประสิทธิภาพการรักษาดูแลผู้ป่วย autism ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถช่วยตนเองและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ  ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลในด้านนี้ อีกทั้งยังจะสามารถช่วยในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่จะช่วยพัฒนาแก้ไขความบกพร่องทางสมองของผู้ป่วยเหล่านี้ได้มากขึ้น

          จากที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า autism เป็นความผิดปกติของระบบประสาท  ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบประสาทของผู้ป่วย autistic จึงเป็นรูปแบบวิธีหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การวิจัยเพื่อพัฒนาการวินิจฉัย  การบำบัด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย autism ดีขึ้น

เป้าหมาย

          เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย  การบำบัด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย autism

วัตถุประสงค์

1.    เพื่อวิจัยและค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุ และกลไกการเกิด  การวินิจฉัย  การบำบัด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย autism

2.    ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และหรือนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ไขความบกพร่องและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย autism

3.    บริการเสริมความรู้เกี่ยวกับความรู้และวิทยาการใหม่ๆที่เกี่ยวกับ ระบบประสาทและ autism

4.    ให้บริการตรวจประเมินการทำงานของสมอง การเรียนรู้และความจำแก่ผู้ป่วย autism และผู้สนใจ

ผู้รับผิดชอบโครงการ

ผศ.ดร.จินตนาภรณ์  วัฒนธร และคณะกรรมการบริหารหลักสูตร Cognitive Neuropsychology

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

งบประมาณลงทุน

          1.เครื่องตรวจวัดการเกิดคลื่นสมองตอบสนองต่อการกระตุ้นรูปแบบต่างๆ ชนิดเคลื่อนที่ได้ พร้อม ระบบประมวลผลและ software ประมวลผลและสร้างภาพ 3 มิติสมอง พร้อมอุปกรณ์ประกอบ     1 เครื่อง   ราคาพร้อมภาษี  2,000,000 บาท

          2.เก้าอี้แบบปรับนอนได้หรือเตียงสำหรับตรวจประเมินสมองผู้ป่วย ราคา 10,000 บาท

          3. ครุภัณฑ์ประจำศูนย์วิจัย 1 ชุด ราคา 90,000 บาท

 ผลผลิตและตัวชี้วัด

1.ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการวินิจฉัย  การบำบัด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย autism ที่เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ 3 เรื่องในเวลา 2 ปี

2.ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย autism ปีละ 1 ชิ้น

3.จำนวนครั้งของการบริการด้านการให้ความรู้ การตรวจประเมินการทำงานของสมอง การเรียนรู้และความจำแก่ผู้ป่วย autism และผู้สนใจไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

4.ความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านการให้ความรู้ การตรวจประเมินการทำงานของสมอง การเรียนรู้และความจำแก่ผู้ป่วย autism และผู้สนใจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

          5. จำนวนบัณฑิต บุคลากร และผู้สนใจที่มีความรู้เรื่องการสมองและ autism เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 20%

10.2 ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการศึกษาเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

                ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีบทบาทภารกิจในการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อปรับบทบาทหน้าที่ให้เป็นศูนย์วิจัยภายใต้สถาบันวิจัยออทิสติกมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถดำเนินการได้ทันทีเพียงปรับโครงสร้างของศูนย์เดิมให้มีหน่วยวิจัยการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติกในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น โดยการจัดหาครุภัณฑ์และบุคลากรประจำหน่วยที่ปรับเพิ่มใหม่เท่านั้น ภายในวงเงินงบประมาณ 2,000,000 บาท

10.3 ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านสวัสดิการสังคมเพื่อบุคคลที่มีกลุ่มอาการออทิซึ่ม

หลักการและเหตุผล

                เมื่อบุคคลออทิสติกพ้นระดับอายุช่วงชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ป.๑-ม.๖)  ก็จะเข้าสู่การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ได้เช่นเดียวกับประชากรปกติในระดับอายุเดียวกัน ด้วย กระบวนการจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับ บุคคลออทิสติก ที่ มีการบูรณาการการบำบัดและการเรียนรู้ เข้าด้วยกันอีกเช่นเดียวกันกับที่จัดการกันในระดับอายุช่วงชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในเนื้อหาและในบริบทแตกต่างออกไป คือ ที่สูงขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง

                จากนั้น ก็เช่นเดียวกับประชากรปกติ บุคคลออทิสติก ก็จะต้องเข้าสู่ช่วงของการทำงาน ที่จะต้องเรียกร้อง การมีงานทำ และจะต้องมีการดูแลจัดระบบช่วยเหลือ บุคคลออทิสติก ในเรื่องของ การฝึกอาชีพ การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการจ้างงาน และอื่นๆ  ต่อจากนี้แล้ว บุคคลออทิสติก ก็จะต้องเข้าสู่ ช่วงปลายชีวิต ที่จะต้องมี สถานที่พักพิง/บ้านพักออทิสติกชราในชุมชน โดยได้รับ เบี้ยยังชีพ หรือ สวัสดิการทางสังคมอื่นใดอันจำเป็นจาก "รัฐ/สังคม" โดยตลอดทุกช่วงของชีวิต จะมี หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ของ โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน คอยให้บริการ การบำบัดช่วยเหลือทางการแพทย์ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งช่วงปลายชีวิต ตามความเหมาะสม ตามระดับอายุ และตามระดับความหนักเบาของกลุ่มอาการ

                อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันและคาดว่าต่อไปอีกสักสองทศวรรษข้างหน้า องค์ความรู้ทุกด้านที่จะนำมาใช้ในการจัดการกับประชากรออทิสติก จะยังคงอยู่ในสภาพที่กระจัดกระจายซึ่งไม่สามารถจะส่งต่อให้กับบุคลากรที่ทำงานกับออทิสติกนำมาใช้ได้อย่างเป็นระบบ หลายองค์ความรู้ยังไม่มีการฟันธงชี้ขาดว่าเหมาะหรือไม่ที่จะนำมาใช้ จึงขึ้นอยู่ความสามารถในการใช้ดุลยพินิจของบุคลากรแต่ละคนของแต่ละหน่วยงานในแต่ละสังกัด ที่จะลองถูกลองผิดส่งเดชกันไปตามยถากรรม โดย ไม่มี มาตรฐาน และ คุณภาพต้นแบบ ใดๆให้อ้างอิง

                ดังนั้นจึงต้องมีการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน และสถานศึกษาทุกระดับรวมทั้งศูนย์การเรียนต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้กับ บุคคลออทิสติก ทั้งในและนอกระบบ องค์ความรู้เกี่ยวกับ การแก้ไขข้อบกพร่อง/ข้อจำกัดในการทำงาน ฯลฯ ให้กับ บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพของออทิสติกในชุมชนไปด้วย และ รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ ว่าจ้างบุคคลออทิสติกเข้าทำงาน และในท้ายที่สุดก็คือ องค์ความรู้ใน การดูแลบุคคลออทิสติก ในวัยชรา หรือ ช่วงปลายชีวิต ให้กับ สถานที่พักพิง ตลอดจนบุคคลหรือองค์หน่วยงานใดๆ ที่อภิบาลดูแลประชากรออทิสติกในวัยชรา

เป้าหมาย

                พัฒนารูปแบบการให้บริการสังคมแก่บุคคลออทิสติก ในช่วงวัยเรียนรู้ วัยทำงานและปลายของชีวิต ที่เหมาะสมกับบุคคลออทิสติกในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วัตถุประสงค์

1.    เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบในบ้านพิทักษ์ฯ  รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2.    เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดสถานที่ให้บริการทางสังคมแก่บุคคลออทิสติกที่อยู่ในวัยทำงานและวัยสูงอายุ

3.    เพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับบุคคลออทิสติกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

4.    เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการรัฐสวัสดิการแก่บุคคลออทิสติกที่อยู่ในวัยสูงอายุ

5.   เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการสวัสดิการสังคมแก่บุคคลออทิสติก

ผู้รับผิดชอบโครงการ

                คณะกรรมการจัดตั้งศูนย์วิจัยบ้านพิทักษ์ออทิสติก

งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 35 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังนี้

1.    การก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยบ้านพิทักษ์ออทิสติกพร้อมครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการดำเนินงาน จำนวน 25,000,000 บาท

2.    การวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการทางสังคมและรัฐสวัสดิการแก่บุคคลออทิสติก จำนวน 10,000,000 บาท

ผลผลิตและตัวชี้วัด

1.    มีศูนย์วิจัยที่มีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ บุคลากรและองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนารูปแบบการให้บริการสังคมและการจัดรัฐสวัสดิการสำหรับบุคคลออทิสติกในวัยทำงานและวัยสูงอายุ

2.    ได้รูปแบบการให้บริการสังคมและการจัดรัฐสวัสดิการสำหรับบุคคลออทิสติกในวัยทำงานและวัยสูงอายุที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3.    มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการสังคมและการจัดรัฐสวัสดิการสำหรับบุคคลออทิสติกในวัยทำงานและวัยสูงอายุเพื่อนำไปใช้ในหน่วยงานรัฐและองค์กรที่มีบทบาทในการให้บริการสังคมและการจัดรัฐสวัสดิการแก่บุคคลออทิสติก

------------------------------------------------------

 

main menu

043 343454 แฟกซ์ ที่คณะศึกษาศาสตร์

098401448 ม.ข. 043 202231 ต่อ 1950 / 043202417-ตึกอำนวยการ สาธิต ม.ดินแดง 043343019 ศูนย์วิจัยออทิสติกฯ 043343265 ห้องอธิการบดี 043202001 หน้าห้องอธิการ 043202002 รองอธิการฝ่ายนโยบายและแผน ต่อ 2007 อ. อารมณ์ 043202007 หรือ 019642109 รองอฯฝ่ายบริหาร อ.ดำรงค์/จากคณะวิศวะ 043202003 มือถือ 019651339 ผู้ช่วยอธิการบดี ม.ข. อ. ธีระ 015441686

เบอร์กลางคณะศึกษาศาสตร์ 043343452 / หน้าห้องคณบดี 043343451 / อ.ไมตรี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ 043203165 / 0817082508